Monday, October 12, 2020

เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง... 11 ปีผ่านไป

 กว่าจะได้เริ่มต้นบรรยากาศวัดป่าแบบที่เคยเจอเมื่อครั้งไปวัดป่าครั้งแรก อีกครั้ง

สิ่งที่ละเอียดขึ้นจากทริปครั้งนี้

ณ ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก                         

รู้สึกทางโลก


  • ห้องน้ำ เป็นเรื่องแรกที่สะกิด ทั้งวัดบน (วัดป่าบ้านมูเซอสามหมื่นทุ่ง) และวัดล่าง (สำนักสงฆ์วัดสุทธิธรรมมงคล-วัดห้วยไคร้) วันงาน คนเข้าร่วม 300-400 คน ห้องน้ำประมาณ 20 ห้อง (รูปที่ 1) ออกแบบให้ทั้งอาบน้ำได้ด้วย พบว่า วันงานกฐิน 11, 12 ตุลาคม 2563 ห้องน้ำเต็ม(ส้วมอุดตัน) ทั้งหมด ...กิจกรรมของมนุษย์ที่ไปทำบุญแล้วกลับ ...ภาระเรื่องนี้ก็กลายเป็นของสงฆ์นะสิ 😢
  • การกิน ใช้จานที่ตักข้าวใส่บาตรแล้ว นำมาทานอาหารเช้าต่อ อันนี้กระบวนการดี แต่ไม่ได้ให้แต่ละคนล้างจานเอง แต่ชาวดอยมูเซอมาช่วยพระ (ผู้จัดทริปว่าอย่างนั้น) อันนี้ ก็ยังทำให้คนในเมือง แยกงานนี้ไว้ให้คนดอยอยู่ดี การอยู่ให้สมบูรณ์ที่สุดของกิจกรรมในวัด เมื่อเราทำให้เกิดอะไร (จานสกปรก) เราต้องทำให้ดีเหมือนเดิม (ล้างจานผึ่งเอง) เพื่อให้คนข้างหลังใช้ได้ต่อ และไม่ทิ้งขยะจากเราให้เป็นภาระของสงฆ์ ทั้งที่ พอจ. เชาวน์ เทศน์ในเรื่องนี้ว่า ใครมาทำบุญ แล้วรีบกลับบ้าน เก็บแต่ส่วนบุญ อันนี้ท่านขอว่า "อย่ามาเลย" 😐 เคสนี้คงต้องอาศัยการสร้างระบบ ฆราวาสน่าจะพร้อมทำ
  • ในส่วนของโรงทาน ถือว่า มีความลงตัวมาก พอดีกับผู้เข้าร่วมทำบุญ #DemandmatchSupply 👍 
  • การนอน ถ้ามาช้าหน่อย จะมีหลังคา ที่ผ้าเต้นท์ผูกไว้กึ่งหนึ่งให้เดินเข้าออกได้ ระยะกว้างของแต่ละคนก็ 1 วาของคนนั้น และเรียงติดกัน (รูปที่ 2) ผลพบว่า เช้าขึ้นมา บางคนอาจนอนไม่ค่อยหลับ เกิดอาการเพลีย ...เรียกว่า สภาวะทางโลกยังไม่ได้จัดให้สบาย ปลอดโปร่งอย่างเพียงพอ ถ้าพักตรงนี้ น่าจะปฏิบัติภาวนาได้ยาก และอยู่ไม่ได้นานเพียงพอ
  • อีกสถานที่โดยรอบมหาเจดีย์ศรีสามหมื่นทุ่ง มีให้กางเต้นท์ได้ทั้งใน และนอกอาคาร ห้องน้ำมีอยู่ในระยะเดินถึงและใช้ไฟฉาย (รูปที่ 3)  ตรงนี้มีความสงบเพียงพอ หลับได้สนิทเต็มที่ กรณีตอนกลางวันก็สามารถเดินไปกลับ ศาลา-เจดีย์ ได้สบาย (รูปที่ 4) แต่ช่วงค่ำ มีฆราวาสที่ภาวนาเป็นประจำ ยินดีที่จะอำนวยความสะดวก ในเรื่องการขับรถไปกลับ ศาลา-เจดีย์ หาเครื่องนอนให้ แนะนำที่พัก ...ได้ยินชื่อเรียกกันว่า พี่ธีป ขออนุโมทนาบุญอย่างสูง                                                                                    

    รูปที่ 1 ห้องน้ำ ณ วัดบน

    รูปที่ 2 ที่นอน ณ วัดบน บริเวณศาลาฯ
    รูปที่ 3.1 มหาเจดีย์ศรีสามหมื่นทุ่ง
     
    รูปที่ 3.2 สถานที่กางเต้นท์ทั้งในและนอกอาคารโดยรอบมหาเจดีย์ฯ


    รูปที่ 4 ระหว่างทางเดินจากศาลา ไปยัง มหาเจดีย์ฯ ช่วงเย็น


รู้สึกทางธรรม


    รูปที่ 5 เหล่ากัลยาณมิตร
  • เสียงจาก กัลยาณมิตร ผู้จัดทริป-พี่จุ๋ม ผู้ชวนมาร่วมบุญ-พี่ดวงเพ็ญ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การที่เราได้เดินทางมาครั้งนี้ด้วยกัน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และกัลยาณมิตรผู้ร่วมเดินทาง ตั้งแต่เริ่มเมื่อ 11 ปีที่แล้ว และยังคงชวนกันปฏิบัติต่อเนื่อง (รูปที่ 5)
  • สิ่งที่ได้ยินจากผู้มาปฏิบัติเป็นประจำ กลุ่มรถบัสคันเดียวกัน มีในแง่ความศรัทธาที่ว่า มีความผูกพันกับสถานที่นี้พอสมควร เรื่องนี้เรียกว่ารู้สึกทางธรรมได้หรือไม่ 😕 ต้องรอพิสูจน์กันต่อไป ขึ้นกับอะไรถึงก่อน จิต หรือ เวลา 
  • ได้สนทนาธรรมด้านสภาวะจิต ช่วงใกล้ภวังค์ กับกัลยาณมิตร 2 ท่านได้อย่างเปิดเผย แสดงว่า น่าจะสัมผัสสภาวะเช่นเดียวกัน มีคอมเม้นท์ในทางที่ก้าวหน้ามากกว่าที่ตัวเราเคยรู้สึกได้ เป็นสิ่งที่น่าปฏิบัติต่อเนื่องเป็นอย่างยิ่ง
  • สุดท้าย สถานที่ ณ จังหวัดสกลนคร เกิดขึ้นเป็นคำศัพท์ใหม่ในทางธรรม ที่รอจังหวะที่เหมาะสม จักเกิดขึ้นเอง     
เกร็ดเรื่องอื่น บันทึกเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้ 
    รูปที่ 6 มหาเจดีย์ศรีสามหมื่นทุ่ง
  • พระอาจารย์ เชาวน์ เจ้าอาวาส บอกว่า พระธาตุลงมาที่นี่  ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2552 ตรงบริเวณที่เป็นมหาเจดีย์ฯ ในปัจจุบัน (รูปที่ 6)
  • เรื่องเล่า จากพี่จุ๋ม ผู้ปฏิบัติงานของ กฟผ. จากฝ่ายสำรวจ ชื่อว่าพี่แจ้ เข้ามาพัฒนาโครงการสายส่ง บริเวณนี้ และได้เข้าพักที่วัด หลังจากนั้น ได้ร่วมบุญโดยการบริจาค การทอดกฐิน ช่วยประชาสัมพันธ์ การก่อสร้างวัตถุสถานภายในวัดแห่งนี้ จนมาถึงปัจจุบัน
  • ระยะทางจากวัดล่าง ขึ้นดอยไปวัดบน 18 กม. ใช้เวลานั่งโยกอยู่ในรถ 1.5 ชั่วโมงขาขึ้น ส่วนขาลงประมาณ 1 ชั่วโมง ปัจจุบัน ชาวเขา เป็นผู้ขับรถจะปลอดภัยดี ในกรณีที่เราขับเองจะไม่คุ้นทาง และมีโค้งอันตรายอยู่มาก...พี่จุ๋มเรียก โค้งแสบ (วิดีโอ)
  • ไอเดียพี่ผู้มีถิ่นฐานอยู่สวิตเซอร์แลนด์ " ถ้าต่างประเทศในยุโรป หรือ ญี่ปุ่น ทางถนนนี้จะมีงบประมาณทำให้เข้าถึงได้ และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกได้ไม่ยาก เพราะธรรมชาติยังคงงดงามมากจริงๆ"
  • วัดบนใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำ ปี 2555 พัฒนาโครงการโดยชุมชนร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน วัดล่าง ใช้พลังงานจากโซล่าเซล์ ด้วยเงินบริจาค กฐินร่วมบุญ คน 2 การไฟฟ้า กฟผ. กฟภ. ร่วมกันติดตั้ง พระอาจารย์ใช้แรงงานพระ และลูกวัดช่วยกันขนเสาไฟฟ้า 1 รถบรรทุกขนได้ครั้งละ 2 ต้น ช่วงก่อสร้าง ต้องมีการนอนกลางทางขึ้นดอยกันบ้าง
  • รอบนี้ ขาขึ้นดอย อากาศดีมาก มีแค่ฝนปรอยเล็กน้อยช่วงก่อนขึ้น ซึ่งทำให้ไม่มีฝุ่นตลอดทาง และก็ไม่มีแดดทั้งวันด้วย แต่ขาลงดอย ไม่เป็นเช่นนั้น และลงหลังจากงานกฐิน ประมาณเที่ยงๆ ถึงบ่าย คนนั่งรถกระบะช่วงท้าย มีป่วยกันได้ อย่าประมาทนะคะ
  • ประวัติพื้นที่ การปลูกฝิ่นของชาวดอย การสร้างสมดุล คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้ การสร้างตลาดมูเซอให้เกิดรายได้ การจัดสรรพื้นที่ให้ชุมชนทำการเกษตร โดยเริ่มมีผู้นำทีมละ 10 คน อ่านต่อ

                                                                                                              
    รูปที่ 7

ในส่วนของเรื่องเล่า ผู้เขียนไม่สามารถพิสูจน์อ้างอิงได้ โปรดใช้วิจารณญาณด้วยประสบการณ์ของผู้อ่านเอง
  • ความศรัทธาเรื่องพญานาค ว่าเป็นเทวดารูปแบบหนึ่ง ที่เคยแวะเวียนมาที่นี่ (รูปที่ 7)
  • เทวดาสามารถเข้ามาร่วมงานบุญกับเราได้ ถ้าละเอียดพอ จะสังเกตเห็น ไม่สุงสิงเรื่องทางโลก สุภาพ
สุดท้าย เป็นความประทับใจ เกร็ดเล็กน้อยของผู้จัดทริปให้พวกเรา
  • ถือเป็นการจัดทริปที่ ผู้จัดมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการสร้างบุญ และจัดเพื่อให้เราได้ร่วมด้วย 
  • การเก็บเงิน มีการให้คืนเพื่อใช้ในร้านอาหารหนึ่ง เพื่อให้เราเลือกเมนูที่ชอบด้วยตัวเราเอง 
  • พี่ผู้จัดทริป เลี้ยงอาหารเราทุกคนในมื้อเที่ยงของวันแรกที่เดินทาง ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ
  • การแวะพักระหว่างทาง เป็นไปอย่างเพียงพอ และไม่ได้เร่งรีบ ให้ลูกทัวร์ลำบากใจ แต่ยังสามารถควบคุมเวลาตามกำหนดการได้อย่างเป๊ะ ***อันนี้สำคัญ***👍
  • การควบคุมกระบวนการระหว่างการนับเงินกฐิน ฟังพี่จุ๋มเท่านั้น เป็นการทำงานอย่างเป็นระบบ และมีผู้นำชัดเจน
  • คนขับรถบัส ทำงานได้อย่างดีมาก ในการขับรถในเวลาช่วงเช้ามืดผ่านเขาหลายลูก แต่ไม่มีความกังวลใดๆ ต่อผู้โดยสารตลอดเส้นทาง
  • มีการแวะจุดท่องเที่ยว ถ้ำสีฟ้า ช่วงบ่ายที่มีเวลา เลือกร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ ร้านข้าวเม่า ข้าวฟ่าง
  • และที่ขาดไม่ได้เลย ยังหาร้านกาแฟมูเซอ สวยๆ บรรยากาศชิลล์ๆ ให้ลูกทัวร์อีกด้วย อันนี้ประทับใจสุดค่ะ 😀  
หลังจากเรียนรู้เรื่อง Data Privacy จากน้องภา แล้วก็ไม่ค่อยมีรูปคนอื่นๆ สักเท่าไหร่นะคะ 😉